วิเคราะห์คอนโซลกับนายมากี ทิศทางของงานแสดงเกมกับการนำเสนอเกมที่เปลี่ยนไป

Makee 11 Jun 2023, 14:28:00
บทความใหม่


แฟนเกมหลายคนคงจะได้ยินข่าวของการประกาศยกเลิกการจัดงานแสดงเกมที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดของโลก อย่าง E3 2023 กันมาบ้างแล้ว และช่วงที่ผมเขียนบทความนี้ก็อยู่ในช่วงเวลาของ Summer Game Fest 2023 งานแสดงเกมที่มองว่าเป็นตัวตายตัวแทน E3 ที่จัดขึ้นโดย Geoff Keightley ชายผู้มีอิทธิพลเป็นอย่างมากต่อวงการอุตสาหกรรมเกม โดยเฉพาะการจัดงานประกาศรางวัลเกมรายปีอย่าง The Game Awards ในวิเคราะห์คอนโซลกับนายมากีนี้ จะมาดูกันว่า อะไรที่ทำให้ งานแสดงเกมระดับบิ๊กของโลกนั้นต้องยกเลิกไป และทิศทางของการเสนอเกมใหม่ ๆ นั้นมันจะเกิดขึ้นอย่างไรในอนาคตบ้าง




"วิกฤติการณ์ COVID-19 ทำให้การพบกันอย่างใกล้ชิดของเกมเมอร์กับผู้พัฒนาเป็นไปได้ยาก"




ด้วยการแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19 เมื่อ 2-3 ปีก่อน การดำเนินชีวิตของผู้คนนั้นได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จากการพบปะกันแบบตัวต่อตัว เดินออกนอกบ้านได้อย่างเป็นปกติ กลับต้องกลายเป็นการใช้ชีวิตแบบรักษาระยะห่าง และการกักตัวอยู่แต่ในบ้าน ในวงการเกมก็เช่นเดียวกัน นี่เป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างจะลำบากพอสมควรสำหรับการทำการตลาดข้างนอก รวมไปถึงการออกบูธหรือเข้าร่วมงานแสดงเกมในหอประชุมหรือโดมใหญ่ ๆ ที่จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อเป็นอย่างมาก ทำให้การจัดงานแสดงเกมนั้นได้รับผลกระทบไปเต็มๆ และต้องเลื่อนแล้วเลื่อนอีก จนแทบจะไม่มีงานแสดงเกมดังกล่าวอีกแล้ว ด้วยวิสัยทัศน์ของ Geoff Keightley ที่ไม่ยอมแพ้ ได้ติดต่อไปยังบริษัทและทีมพัฒนาเกมต่าง ๆ เพื่อเข้าร่วมการจัดงานอย่าง Summer Game Fest งานแสดงเกมในช่วงฤดูร้อนที่เปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอใหม่กับการนำเสนอผ่านทางสตรีมมิ่งสด ออนไลน์บนอินเตอร์เน็ต แม้ว่ามันอาจจะไม่คึกคักเหมือนงานแสดงเกมที่จัดตามโดมหรือศูนย์ประชุม แต่เหล่าเกมเมอร์ก็สามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากงานแสดงเกมนี้ได้ค่อนข้างดี



"เมื่อค่ายเกมใหญ่ต่างมีจุดยืนในการนำเสนอเกมของตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งงานแสดงเกม"




จริง ๆ แล้วเหตุการณ์นี้มันเกิดขึ้นมาสักพักใหญ่แล้ว ถ้าผมจำความได้ อยู่ที่ช่วงประมาณ 7-8 ปีก่อน ในช่วงที่งาน E3 นั้นยังมีค่ายเกมหรือบริษัทต่าง ๆ เข้าร่วมงานมากมาย แต่ก็ยังเห็นค่ายเกมหรือบริษัทเกมบางเจ้ายอมที่จะพรีเซ้นต์หรือนำเสนอเกมของตัวเองในรูปแบบของการสตรีมมิ่งออนไลน์ขึ้นมาเอง โดยไม่ต้องให้ CEO หรือนักพัฒนาของบริษัทนั้น ๆ พรีเซ้นต์เกมบนเวทีภายในงาน ที่เห็นชัด ๆ หน่อยก็จะเป็นอย่างของ Nintendo ที่มี Nintendo Tree House บ้านต้นไม้ที่นำเสนอเกมในเครือ Nintendo และต่อจากนั้นก็ลามมาเรื่อย ๆ เป็นในส่วนของ PlayStation ที่มีรายการแนะนำเกมอย่าง State of Play หรือทางฝั่งของ Xbox ที่มี Xbox Game Showcase ที่จัดร่วมกับ Bethesda หรือตามค่ายเกมและทีมพัฒนาเจ้าต่าง ๆ ที่ต่างมีช่องทางการนำเสนอเกมของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น EA,Ubisoft, Capcom, Square Enix โดยที่พวกเขาเหล่านี้ ไม่ต้องเสียเงินในการขอเช่าพื้นที่จัดงาน หรือขอคิวในการพรีเซ้นต์บนเวทีงานแสดงเกม ทำให้เสน่ห์ของการพรีเซ้นต์ที่เป็นส่วนที่น่าสนใจของงานแสดงเกมเหล่านี้กลับหายไป



"เมื่อ COVID มันเริ่มซา การกลับมาของงานแสดงเกมจะเป็นอย่างไร?"



การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในช่วงเวลานี้ถือว่าลดน้อยลงไปมาก จนทำให้ผู้คนสามารถใช้ชีวิตได้เกือบจะปกติ แน่นอนว่าเรื่องของพฤติกรรมการเล่นเกมและการติดตามเกมที่เปิดตัวนั้นก็ยังไม่ถึงขั้นสามารถไปมาหาสู่หรือใกล้ชิดกับทางห้างร้านหรือร่วมงานได้อย่างสนิทใจ และมองว่าผู้คนส่วนใหญ่ก็เริ่มที่จะยอมรับและสนุกกับการดูงานแสดงเกมผ่านทางสตรีมมิ่งกันเยอะขึ้น บวกกับมีช่องทางในการทดสอบเกมใหม่ ๆ ได้ง่ายยิ่งขึ้น บางทีนี่อาจจะเป็นจุดจบของงานแสดงเกมตามหอประชุม หรือโดมต่าง ๆ ไปแล้ว และทิศทางในการนำเสนอเกมต่าง ๆ ของทางค่ายเกมนั้น เริ่มที่จะเป็นสูตรสำเร็จมากยิ่งขึ้น กล่าวคือ เป็นทั้งผู้พัฒนา ผู้เผยแพร่ และผู้จำหน่ายอยู่ในค่ายเดียวกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจจะทำให้เหล่าออกาไนซ์หรือผู้จัดงานต้องตกงานกันมากมาย และนั่นอาจจะกลายเป็นตอนอวสานของวัฒนธรรมการจัดงานเกมตามสถานที่ต่าง ๆ ก็เป็นไปได้




"ซีกตะวันตกอาจจะไม่ปัง แต่ที่เอเชียยังขลังอยู่"



ถ้า E3 คือยักษ์ใหญ่จากฝั่งตะวันตกที่กำลังจะล้มลง แต่อีกซีกโลกหนึ่งในฝั่งตะวันออก อย่างที่ประเทศญี่ปุ่น Tokyo Game Show ก็ยังคงรักษาวัฒนธรรมการจัดงานแสดงเกมตามสถานที่ได้อย่างต่อเนื่อง และยังมีคนเข้าร่วมงานอยู่พอสมควร แม้ว่าวิกฤติการณ์ COVID-19 มันส่งผลกระทบต่อคนทั้งโลก แต่สำหรับ Tokyo Game Show ก็ยังคงจัดงานได้อย่างไม่มีปัญหา แม้ว่าผู้เข้าชมนั้นจะน้อยกว่าแต่ก่อนไปบ้าง แต่ก็ทำให้อุตสาหกรรมเกมในประเทศยังคงคึกคักและน่าสนใจเหมือนเดิม ที่สำคัญในช่วงที่งานแสดงเกมยังมาไม่ถึงก็มีการอัปเดตข่าวสารเกมต่าง ๆ ผ่านทางสตรีมมิ่งอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้งานแสดงเกมนั้นมียอดผู้เข้าชมลดลงเลยแม้แต่น้อย ทางด้านประเทศข้าง ๆ อย่างเกาหลีใต้ กับงาน G-Star แม้ว่าช่วงที่ผ่านมาจะยังไม่พีคเท่ากับช่วง 8-10 ปี ก่อน แต่ก็ยังทำให้บรรยากาศของการจัดงานแสดงเกมที่ BEXCO นั้นไม่จืดจางลงเลยแม้แต่น้อย ทำให้อุตสาหกรรมเกมของฝั่งเกาหลีใต้นั้นค่อนข้างจะไหลลื่นได้เป็นอย่างดี ที่จะมองข้ามไม่ได้เลยอีกประเทศนั่นคือไต้หวัน ประเทศที่เริ่มจะจัดงานแสดงเกมน้องใหม่อย่าง Taipei Game Show ซึ่งสร้างความน่าสนใจในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะเกมที่พัฒนาจากประเทศของตนเองก็ดี ของจีนก็ดี ก็ต่างผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด ส่งผลให้ผู้เล่นเกมมีทางเลือกในการเล่นมากยิ่งขึ้น และทำให้ตลาดของอุตสาหกรรมเกมในไต้หวันและจีนนั้นคึกคักเป็นอย่างมาก และท้ายที่สุดคือประเทศไทยของเรา แม้ว่าเมื่อ 2-3 ปีก่อน Thailand Game Show ไม่ได้จัดเพราะพิษโควิด แต่ก็ยังมีการเปิดเพจของ Thailand Game Show นำเสนอข่าวสารแวดวงเกมเสิร์ฟให้เกมเมอร์กันอย่างต่อเนื่อง บวกกับการกลับมาจัดงานในปีที่ผ่านมา ก็ถือว่าประสบความสำเร็จและสามารถเรียกฐานผู้เข้าร่วมตบเท้ามางานได้อย่างมากมายเลยทีเดียว 




"แล้วงานแสดงเกมยังจำเป็นอยู่มั๊ย?



ถ้าให้สรุปกันในมุมมองของผมเอง ผมคิดว่าวัฒนธรรมการจัดงานแสดงเกมตามสถานที่ต่าง ๆ ก็ดี หรือการสตรีมมิ่งออนไลน์ก็ดี ยังมองว่าจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับอุตสาหกรรมเกม เพราะมันคือหลักฐานชิ้นสำคัญของความเจริญรุ่งเรืองต่ออุตสาหกรรมเกมที่ชัดเจนอย่างมากว่า มันพัฒนาและเติบโตไปถึงขั้นไหน นอกจากนี้มันยังเป็นพื้นที่โชว์ของให้กับนักพัฒนาเกมและบริษัทเกมหน้าใหม่ ๆ ได้ออกมาเปิดตัวเกมที่สร้างขึ้นมา สร้างโอกาสให้กับนักพัฒนาเจ้าต่างๆ ที่เข้ามายังอุตสาหกรรมเกม และยังเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับเกมเมอร์อย่างเรา ได้ลิ้มลองและสัมผัสเกมเหล่านี้มากยิ่งขึ้น แม้ว่า E3 มันจะถึงจุดสิ้นสุด แต่ผมเชื่อว่า จะยังคงมีงานแสดงเกมงานใหม่ ๆ ที่สามารถสานต่อและสืบทอดวัฒนธรรมของการจัดงานตามสถานที่ต่อไปอีกนานเท่านาน



กำลังโหลด...