กว่าจะมาเป็น Steam แพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์สำหรับตลาดเกม PC ที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก

Playulti 09 Sep 2019, 11:59:08
ข่าวเกม PC


เชื่อว่าคงไม่มีใครไม่รู้จัก Steam แพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์สำหรับตลาดเกม PC ในการจัดจำหน่ายจากค่ายเกมต่างๆ ให้เข้าถึงกันทั่วโลกได้อย่างง่ายดาย พร้อมกับชูโรงด้วยเทศกาลลดราคาที่แต่ละเกมถูกลดกระหน่ำแบบจัดหนักจัดเต็ม จนบางครั้งก็ถึงกับทำเอาแทบหลังหักกันทุกคน จนอามาล้อเลียนกันในโซเชียลมีเดียอยู่ตลอดเวลา และบัดนี้มีผู้ใช้งานบนระบบเเกินกว่า 1,000 ล้านคนเรียบร้อยแล้วล่ะคะ

ทั้งหมดทั้งปวงนี้ต้องขอขอบคุณ Gabe Newell ผู้ก่อตั้งค่าย Valve ที่ให้กำเนิดแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ดังกล่าวมาให้เพื่อนๆ ใช้งานกันจนถึงทุกวันนี้ ทว่าจะมีซักกี่คนเชียวที่รู้ว่ากว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ทีมผู้พัฒนาต้องฝ่าฝันอุปสรรคมามากมายนับไม่ถ้วน จนแทบกระอักเลือดเลยทีเดียวค่ะ และเพื่อเฉลิมฉลองการเปิดให้บริการครบรอบ 16 ปี ณ วันที่ 12 กันยายนที่จะถึงนี้ ทามาโมะจังจึงขอเสนอบทความพิเศษมาเล่าถึงประวัติความเป็นมายาวนานของ Steam ให้ได้ทราบกันค่ะ


จุดเริ่มต้นของ Steam ที่ไม่ได้สวยหรูตามที่คาดการณ์เอาไว้




ในปี 2003 ค่ายเกม Valve ประสบความสำเร็จกับการสร้างผลงานเกมซีรีส์ระดับตำนานอย่าง Half-Life จนกระแสตอบรับดีอย่างล้นหลาม ไม่ว่าจะทั้งยอดขายและคำวิจารณ์จากเหล่าเกมเมอร์ทั่วโลก เลยทำให้ Gabe Newell ตัดสินใจและวางแผนโปรเจกต์อันแสนทะเยอทะยานที่จะยกระดับวงการเกมให้สูงขึ้นไปอีกขั้น นั้นก็คือ Steam นั่นเอง! โดยเขาหมายมั่นจะให้มันเป็นเหมือนกับตัวแทนผู้จัดจำหน่ายเกมต่างๆ ให้เข้าถึงทั่วโลกในบัญชีเดียว พร้อมกับเริ่มเปิดใช้บริการในวันที่ 12 กันยายน ปี 2003 

ทว่าความเป็นจริงไม่ได้สวยหรูอย่างที่คิด นับตั้งแต่เปิดให้บริการมาจนถึงปี 2005 กลับไม่ได้รับความนิยมเอาเสียเลย เนื่องมาจากหลายสาเหตุหลายปัจจัย อาทิ การกรอกข้อมูลที่จุกจิกเกินไป, ความยุ่งยากในการใช้งาน และประสิทธิภาพของอินเทอร์เน็ตในยุคนั้นๆ ที่ใครเคยอยู่มาก่อนจะรู้ว่ามันทั้งอืดทั้งช้ามากๆ แต่ในความโชคร้ายยังมีความโชคยังดีอยู่บ้าง เพราะ Half-Life 2 ภาคต่อของเกมซีรีส์ระดับตำนานวสางจำหน่ายแบบ Exclusive เฉพาะบน Steam เท่านั้น เลยจำเป็นต้องใช้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การกลับมาผงาดอีกครั้งด้วยการมุ่งปรับปรุงระบบอย่างต่อเนื่อง




หลังจากทราบถึงปัญหาดังกล่าวจากการรับฟังอีเมล์ของลูกค้า ในช่วงปี 2006 - 2008 ค่ายเกม Valve จึงใช้เวลาปรับปรุงหน้าร้านค้าให้ดีขึ้นกว่าเดิม เริ่มตั้งแต่ปรับเปลี่ยน User Interface ออกมาให้เข้าใจง่ายขึ้น, เพิ่มหมวดหมู่เกมประเภท Demo, แนบคลิปวิดีโอคุณภาพระดับ HD เกี่ยวกับเกมนั้นๆ เข้ามา, แสดงผลคะแนนของแต่ละเกมร่วมกับทาง Metacritic และเพิ่มรูปแบบการค้นหาคีย์ลัดโดยเฉพาะ ได้แก่ Top Sellers ,New Releases และ Spotlight เป็นต้น

อีกทั้งยังเริ่มคิดค้นระบบ Steam Community แหล่งชุมชนไว้ให้เกมเมอร์ทั่วโลกมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พร้อมกับเปิดตัวกลยุทธ์การตลาดสุดบ้าคลั่งที่เชื่อว่ามันจะคว้าใจผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน นั้นก็คือ เทศกาลลดราคาแบบแหลกกระจาย ส่งผลให้มียอดผู้ใช้งาน Steam ทะลุถึง 20 ล้านคนเลยทีเดียว และแน่นอนเมื่อผลตอบรับดีขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดช่วงปี 2009 - 2011 Steam กลับมาจุติใหม่สู่สายตาเกมเมอร์ทั่วโลกอีกครั้งหนึ่ง



ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา เหล่าค่ายเกมยักษ์ใหญ่และทีมผู้พัฒนาเกมอินดี้จำนวนมหาศาลก็ทยอยนำเกมของพวกเขามาวางจำหน่ายบนแพลตฟอร์ม Steam เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้มีการปรับราคาตามโซนในแต่ละประเทศ ยิ่งไปกว่านั้นก็เพิ่มระบบ Steam Guard ไว้ป้องกันบุคคลอื่นมาใช้งานบัญชีของเรา รวมถึง Steam Stats เอาไว้แสดงยอดผู้เล่นที่มีผลต่อเกมนั้นในแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ แต่ละเดือนว่ามีคนเล่นอยู่เท่าไหร เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่หลุดพ้นจากความยากลำบากได้เสียทีนะคะ

Steam หนึ่งในแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ที่จำเป็นต้องมีไว้ติดตัว




พอเริ่มเข้าสู่ปี 2012 นับตั้งแต่นั้นมา Steam กลายเป็นสิ่งที่เกมเมอร์ทั่วโลกขาดไปไม่ได้เสียแล้ว แถมยังเรียกเสียงฮือฮาด้วยการประกาศเปิดตัวระบบ Steam Greenlight แหล่งโอกาสของทีมผู้พัฒนาเกมอินดี้มานำเสนอเกมของพวกเขาให้กับผู้ใช้งานทั้งหลาย พร้อมกับเปิดโหวตลงความเห็นว่ามีเกมไหนที่ควรเอามาวางขายบนร้านค้าเพื่อจะซื้อไปเล่นกัน นอกจากนี้ค่ายเกม Valve ได้พัฒนาแอปพลิเคชั่น Steam ในโทรศัพท์มือถือ มิหนำซ้ำยังเปิดช่องทางให้ผู้ใช้บริการ Steam เติมเงินบัญชีด้วยตนเองง่ายๆ อีกด้วย



ต่อมาในปี 2013 Steam ก็เริ่มหันมาสนับสนุนระบบปฏิบัติการ Mac และ Linux บ้างแล้ว หลังจากเน้นระบบปฏิบัติการ Window มาเป็นเวลานาน, สร้างระบบ Steam Family Sharing มาแบ่งปันคลังเกมให้คนในครอบครัวเล่นร่วมกันได้ และทีเด็ดในปีนี้คือ การมาของหมวด "Early Access" บรรดาเกมที่จัดอยู่ในหมวดดังกล่าวจะเป็นเกมที่อยู่ในระหว่างการพัฒนา ที่เมื่อซื้อไปแล้วก็นำข้อดีข้อเสียมาบอกกับทีมผู้พัฒนาเพื่อปรับปรุงตัวเกมให้ดีขึ้น ซึ่งปีนั้นถือว่าเกมหมวด Early Access แพร่หลายเอามากๆ เลยล่ะ

แนวทางการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยเมื่อ Steam มาถึงจุดอิ่มตัวแล้ว




นับตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา ระบบการใช้งานของ Steam ถือว่ามั่นคงและเสถียรภาพจนแทบไม่ต้องปรับปรุง / แก้ไขอะไรเพิ่มเติมแล้ว แต่ถึงกระนั้นค่ายเกม Valve ก็ไม่อาจนิ่งนอนใจได้ เพราะถ้าไม่มีการอัพเดทอะไรบ้างล่ะก็ อาจทำให้แพลตฟอร์มของพวกเขาเข้าสู่จุดอิ่มตัว ดังนั้นจึงมีแนวทางการแก้ปัญหาด้วยการลองปรับอะไรหลายๆ อย่างให้เข้ากับยุคสมัย โดยเริ่มจากปรับโฉม User Interface ให้แสดงผลข้อมูลการค้นหาเกมในหมวดหมู่อย่างที่เราต้องการเอาเอง พร้อมกับผลิตฮาร์ดแวร์ชนิดใหม่ถึง 2 อุปกรณ์ด้วยกัน ได้แก่ Steam Controller และ Steam Link แถมเริ่มหันมาสนับสนุนเกมแนว VR แล้วด้วยนะคะ

ยิ่งในปี 2017 ได้มีการปรับเปลี่ยนข้อเสนอการวางจำหน่ายเกมต่างๆ บนหน้าร้านค้าด้วยระบบ Steam Direct ที่ถูกแทนที่ Steam Greenlight เพื่อคัดกรองคุณภาพของแต่ละเกม และลดจำนวนเกมที่ไร้ซึ่งคุณภาพออกไปในตัวด้วย หากทีมผู้พัฒนาอยากนำเกมขึ้นมาวางขายบน Steam จะต้องจ่ายเงินค่าธรรมเนียมเท่านั้น และในปี 2018 ก็มีการปรับเปลี่ยนนโยบายสำหรับวางจำหน่ายเกม 18+ ให้วางขายแบบไร้เซ็นเซอร์อย่างเต็มรูปแบบ ถือเป็นการเอาใจ + เพิ่มกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้ามาใช้งานมากยิ่งขึ้น

Epic Games Store คู่แข่งตัวฉกาจในอนาคตของ Steam




ปัจจุบันนี้ Steam ได้เผชิญหน้ากับคู่แข่งตัวฉกาจอย่าง Epic Games Store ที่โปรโมทการตลาดด้วยนโยบายการเงินที่เน้นเอาใจทีมผู้พัฒนาเป็นหลัก ส่งผลให้ค่ายเกมและทีมผู้พัฒนาเกมอินดี้ทั้งหลายต่างก็เริ่มโยกย้ายตีห่างจากอก Steam ถึงแม้เกมเมอร์ทั่วโลกจะไม่ค่อยชอบวิธีการแบบนี้เท่าไหรนัก [ไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมกันได้ที่ คลิ๊กที่นี่1 และ คลิ๊กที่นี่2 นะจ๊ะ] แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหาก Epic Games Store พัฒนาระบบได้ใกล้เคียงกับ Steam คงจะแย่งฐานผู้ใช้งานพอสมควรเลยล่ะคะ



แต่ดูเหมือนว่าเวลานี้ Steam จะไม่ตื่มตูมกับสถานการ์ณดังกล่าวแม้แต่น้อย กลับกันยังคงมุ่งมั่นทยอยปรับเปลี่ยนอะไรหลายๆ อย่างอยู่เช่นเดิม ไม่ว่าจะทั้งการป้องกัน Review Bomb ถล่มรีวิวแง่ลบจนตัวเกมนั้นขึ้นสีแดงเถือก, ปล่อยแอปพลิเคชั่น Steam Chat การแชทข้อความผ่านโทรศัพท์มือถือ, เพิ่มตัวเลือก “เล่นบนแพลตฟอร์มอื่น” ไว้ให้กด หากเรามีเกมนั้นๆ จากแพลตฟอร์มอื่นแล้ว, ปรับปรุงการแสดงผลข่าวอัพเดทในร้านค้า และล่าสุดทำการเปิดตัว Steam Library [ฉบับ Beta] โฉมใหม่ในวันที่ 17 กันยายนที่จะถึงนี้

เป็นยังไงกันบ้างคะ กับบทความถึงประวัติความเป็นมายาวนานของ Steam ที่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ไม่ใช่ง่ายๆ เลย หากไม่มี Gabe Newell และค่ายเกม Valve ที่เป็นผู้บุกเบิกแพลตฟอร์มนี้ขึ้นมาล่ะก็ พวกเราคงไม่อาจเข้าถึงตัวเกมได้อย่างง่ายดายจนถึงทุกวันนี้ก็เป็นได้ ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าการมาของ Epic Games Store จะส่งผลกระทบให้กับ Steam ในอนาคตมากน้อยแค่ไหนก็ตาม ทามาโมะจังและทีมงาน PlayUlti คิดว่ายังคงได้รับความนิยมไปอีกนานพอสมควร


อ้างอิงข้อมูลจาก : PC GamerSteam Blog

กำลังโหลด...